09 ต.ค. การจำแนกประเภทของไม้สักทอง
ไม้สัก (teak) จัดเป็นไม้อนุรักษ์และไม้เศรษฐกิจที่มีคุณค่ามากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก มีความคงทนต่อสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศได้หลากหลาย มีความทนทานต่อการทำลายของปลวก แมลงต่างๆ และเชื้อรา จึงเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง ในการปลูกสร้างพระราชวัง พระอารามหลวง วัดราษฎร์ บ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งบ้าน งานฝีมือแกะสลักหัถตกรรมต่างๆ หลายชนิด
ไม้สักเป็นไม้ในเขตร้อนชื้น สามารถพบได้ในบริเวณเส้นศูนย์สูตร เขตแนวมรสุม และเขตกึ่งร้อนชื้น มีขอบเขตการกระจายใหญ่ๆ อยู่ในเอเชียใต้ หรือ คาบสมุทรอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ คาบสมุทรอินโดจีนและแหลมมาลายาตลอดจนและหมู่เกาะอินเดียตะวันออก ซึ่งประกอบกันเป็นประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกีนี่ และบางส่วนของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ
ในประเทศไทยพบว่ามีขอบเขตกระจายพันธุ์บริเวณภาคเหนือเป็นหลัก ซึ่งมีคุณภาพดีเช่นเดียวกับไม้สักที่พบในประเทศพม่า อินเดีย จากการตรวจสอบโดยผู้เชียวชาญพบว่าไม้สักบริเวณประเทศไทยถือเป็นไม้สักทองที่ มีคุณภาพดีที่สุดของโลก และเป็นที่ต้องการมากในตลาดโลก ไม้สักทองเป็นไม้คู้บ้านคู่เมืองไทยมานานและเคยเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง เมื่อร่วม 100 ปีมาแล้ว โดยผู้ที่ได้รับสัมปทานเป็นบริษัทฝรั่ง 5 ชาติส่วนใหญ่เป็นยุโรป เช่น บริษัทอีสเอเชียติกส์ จำกัด บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า จำกัด บริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนแวน จำกัด บริษัทแองโกลไทย จำกัด และบริษัทบอร์เนียว จำกัด โดยได้รับสัมปทานในพื้นที่ภาคเหนือ
ต่อมาไม้สักปริมาณลดลงมากเพราะพื้นที่ป่าถูกบุรุกตามการเพิ่มขึ้นของ ประชากรและความต้องการใช้ไม้ที่เพิ่มขึ้นโดยลำดับ ปัจจุบันตามแหล่งธรรมชาติเหลือไม่ถึง 25,000 ไร่จากทั่วประเทศ และกำลังลดจำนวนลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่น่าเชื่อว่าจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกไม้สักรายใหญ่ของโลก แต่ในปัจจุบันกลับอยู่ในสภาพตรงกันข้ามคือไม่สามารถส่งออกได้ และไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศต้องสั่งเข้าถึงแม้จะมีการปลูกสร้างสวน ป่าสักทดแทน แต่กว่าได้มาตรฐานต้องมีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป หากมีอายุน้อยกว่านั้น เช่น 15 ปี ซึ่งเป็นรอบตัดฟันปกติ เนื้อไม้ยังมีปริมาตรน้อยไม่สามารถทำอะไรได้มาก ไม้สักมีชื่อสากลว่า Teak มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tectona grandis L. จัดอยู่ในวงศ์ผกากรอง (Verbenaceae) ชิ่อท้องถิ่นในไทยคือ สัก ป้ายี้ เส่บายี้ ปีฮือ เป้อยี ที่ได้ชื่อว่าสักทองเพราะเนื้อไม้มีสีเหลืองเหมือนทอง อย่างไรก็ดีสักยังถูกแบ่งตามเกรดของเนื้อไม้เป็น สักทอง สักหยวก สักขี้ควาย สักหิน สักไข ซึ่งแท้ที่จริงแล้วจัดอยู่ในชนิดเดียวกัน คือ Tectona grandis L. ที่เป็นเข่นนี้เพราะมีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพของไม้ ความละเอียดและสี โดยไม่ขึ้นกับพันธุกรรม แต่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่สักนั้นขึ้นอยู่เป็นสำคัญ ซึ่งมีความหลากหลายของดิน หิน แร่ธาตุ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ระดับความสูงของพื้นที่ในภูมิประเทศนั้นๆ
การจำแนกประเภทของไม้สักทอง
1.ไม้สักทอง
ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งไม่ไกลจากลำห้วย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ร่วนซุย มีปริมาณหินในเนื้อดินไม่มาก ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งก้านพองาม เรือนยอดค่อนข้างดกพอสมควร เนื้อไม้เป็นเส้นตรงผ่าง่ายมีความแข็งปานกลาง เหมาะแก่การตกแต่งแปรรูปใช้สอย มีสีเหลืองอมทอง
2.ไม้สักลายดำ
เป็นไม้สักทองชนิดหนึ่งที่มีสีดำแทรกอยู่ในเนื้อไม้ระหว่างวงปี เป็นที่นิยมในการทำอุตสาหกรรมทำไม้อัดมากเพราะเป็นไม้ที่มีลวดลายงดงามตัด กันอย่างน่าดู เหมาะสมสำหรับทำเครืองตกแต่งเรือน เนื่องจากไม้สักลายดำเป็นไม่สักหายากจึงมีราคาสูงกว่าไม้สักทองทั่วไป ไม้สักลายดำมักขึ้นอยู่ในบริเวณที่แร่ธาตุฟอสฟอรัสผสมอยู่ในดินมากกว่า บริเวณอื่น
3.ไม้สักหยวก
เป็นไม้สักที่ขึ้นตามป่าโปร่งที่ชื้นใกล้ริมห้วยที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ต้นขึ้นตรงเปลือกแตกเป็นร่อง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบมีขนาดกลาง เนื้อไม้ค่อนข้างขาวสีจาง เนื้ออ่อนกว่าสักชนิดอื่นๆ ถากหรือฟันได้ง่าย ร่องที่เปลือกของไม้สักหยวกจะเป็นร่องที่กว้างกว่าไม้สักทอง
4.ไม้สักไข
ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งที่มีความแห้งแล้งเป็นส่วนมาก การเจริญเติบโตค่อนข้างช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้างระหว่างร่อง ลำต้นเปลาตรง แต่มีลักษณะเกร็น พุ่มของเรือนยอดบอบบางแต่มีใบเต็ม เนื้อไม้มีไขปนเป็นมันลื่นเหมือนเอาเทียนไขไปทา ยากแก่การขัดและลงแชลก เนื้อไม้มีสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง
5.ไม้สักขี้ควาย
เป็นไม้สักที่เกิดในที่แห้งแล้งในป่าผสมผลัดใบก้ำ กึ่งระหว่างป่าเบญจพรรณละป่าเต็งรัง สภาพของดินมักมีหินประปนจำนวนมาก เรือนยอดไม่ค่อยสมบูรณ์ ลำต้นมีการตายในกิ่งบ้าง ลักษณะของเปลือกลำต้นแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ ไม่สมบูรณ์ เนื้อไม้มีสีค่อนข้างดำมีความแข็งกว่าสักทอง
6.ไม้สักหิน
เป็นสักที่ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งที่แห้งแล้งในระดับสูง มีฤดูแล้งยาวยาน สภาพของพื้นที่เป็นหินมีดินร่วนค่อนข้างน้อย ทำให้ขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การแตกของเปลือกเป็นร่องลึก และเรือนยอดไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติ เนื้อไม้ใกล้เคียงกับสักขี้ควายมีสีคล้ำ แต่มีความแข็งมากกว่าสักขี้ควายและสักอื่
โดย กรวิศฎ์ ณ ถลาง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ที่มา https://wisdom.sc.mahidol.ac.th/repository/biology/2010/11/24/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B1/
No Comments